วีรศักดิ์ลุยฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทุกมิติในปีหนูทอง

วีรศักดิ์ประกาศปี 63 เป็นปีหนูทองของคนตัวเล็ก ลุยฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทุกมิติ กางแผนพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจ และผลักดันขึ้นทะเบียน GI ปี 63 อีก 18 สินค้าจาก 17 จังหวัด พร้อมลงพื้นที่ชี้โอกาสให้สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนใช้ FTA หนุนส่งออกสินค้าเกษตร เตรียมปลุกกระแสตลาดอัญมณีเมืองจันท์คึกคักต่อเนื่องยกระดับจัดงานพลอยนานาชาติปี 63 ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ประเดิมต้นปีลุยพื้นที่อยุธยาฯ เร่งฟื้นฟูผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยภาคกลาง หวังสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนดันเศรษฐกิจท้องถิ่นคึกคักทั่วประเทศ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานในปี 2563 ของหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชนและสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา โดยขอให้ผู้บริหารทุกคนมุ่งมั่นผลักดันการทำงานในปีหนูทองให้เป็นปีทองของการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในทุกมิติ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดต่าง จะปูพรมขับเคลื่อนภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง โดยในปี 2563 ที่กำลังจะถึงนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีแผนขยายช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ในรูปแบบ Omni Channel เพื่อเชื่อมโยงการค้าไปยังตลาดระดับภาคและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม อีกทั้งจะดำเนินการพัฒนาร้านค้าปลีกสู่การเป็น Smart โชวห่วย การผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทาง e-Commerce เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ที่มีศักยภาพและเป็นที่นิยม รวมถึง จะมีการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP Select ไปยังท่าอากาศยานเชียงใหม่ และอู่ตะเภาเพิ่มเติมด้วย
ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีแผนในการผลักดันสินค้า GI ให้ครอบคลุมทุกมิติโดยใน ปี 2563 ทางกรมจะพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI 18 สินค้าจาก 17 จังหวัด ได้แก่ โอ่งมังกรราชบุรี ,ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร , ผ้าหม้อห้อมแพร่ , ลูกหยียะรัง ปัตตานี , ส้มโอทองดีบ้านแท่น ชัยภูมิ , กระเทียมศรีสะเกษ , หอมแดงศรีสะเกษ , พริกไทยจันท์ , เงาะทองผาภูมิ กาญจนบุรี , ข้าวหอมมะลิพะเยา , กลองเอกราช อ่างทอง , ข้าวไร่ดอกข่าพังงา , กล้วยตากสังคม หนองคาย , ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ตราด , กาแฟดอยป่าแป๋ลำพูน , สับปะรดบึงกาฬ , ส้มจุกจะนะ สงขลา และกล้วยหอมทองปทุม ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริม GI ในต่างประเทศ โดยจะนำสินค้า GI จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี และมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ไปจด GI ที่จีน เพราะเป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมบริโภค และ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ไปจด GI ที่มาเลเซีย รวมไปถึงมีแผนที่จะลงพื้นที่ส่งเสริมการจัดทำคำขอสำหรับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นใหม่ๆ การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และส่งเสริมช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็ได้กำชับให้กรมเจรจาฯ เร่งผลักดันสินค้าเกษตรออกสู่ประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ โดยตนจะนำทีมลุยลงพื้นที่ทั่วประเทศไปพบผู้ประกอบการและเกษตรกรเพื่อชี้ช่องทางค้าขายด้วยตนเองต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอและกระจายสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ในปี 2563 มีแผนที่จะร่วมลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เช่น นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ตาก ชัยภูมิ ระยอง ตราด สงขลา และกระบี่ เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT สืบเนื่องจากกระแสการตอบรับงานเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2019 เมื่อวันที่ 4-8 ธันวาคม 2562 ได้รับการตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มผู้ซื้อและนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางไปจังหวัดจันทบุรีอย่างต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศการค้าที่คึกคักให้กับตลาดค้าพลอยอย่างชัดเจน จากที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างเงียบเหงาจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ดังนั้น GIT จึงจะยกระดับการจัดงานในปี2563 ให้ยิ่งใหญ่และเข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในแง่การเชิญชวนผู้ประกอบการที่นำสินค้าที่มาจำหน่าย ให้มีปริมาณมากขึ้น มีความหลากกลายและคุณภาพ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการประมูลพลอย นิทรรศการ และการสัมมนาต่างๆ ที่จะทำให้งานมีความน่าสนใจมากขึ้น มุ่งเน้นจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย และตอกย้ำภาพลักษณ์จังหวัดจันทบุรีในฐานะนครแห่งอัญมณีของโลก
นายวีรศักดิ์ ระบุว่า ในส่วนของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ในวันที่ 16 มกราคม 2563 ตนจะเดินทางลงพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปพบผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยในพื้นที่ภาคกลาง ในการประชุม SACICT Craft Network ครั้งที่ 4 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายงานหัตถศิลป์ ในกลุ่มผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมภาคกลาง กว่า 686 ราย ไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ตนต้องการชี้ให้ผู้ผลิตเห็นถึงความสำคัญของการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในแวดวงศิลปหัตถกรรม เน้นการปรับกระบวนการคิด สร้างมุมมองใหม่ให้ช่างผู้ผลิตสามารถผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนตอบสนองนโยบายผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน
ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์/สำนักข่าวเออีซีไทยนิวส์ รายงาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสม.หมู่ 4 บึงคำพร้อย ปทุมธานี ลุยกำจัดยุงลายให้ประชาเป็นสุข ปลอดไข้เสือดออก

กกต.จัดโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 6 (ภาคกลาง)

สตาเลี่ยน และสวอพ แอนด์ โก Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน