เล่าสู่กันฟังเรื่อง “บางแง่บางมุมของนางสงกรานต์”

เป็นที่ทราบกันว่า “นางสงกรานต์” ไม่ได้มีตัวตนจริง แต่เป็นคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน “ตำนานสงกรานต์” ซึ่งเป็นโบราณอุบายให้คนสมัยก่อนที่ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ ที่สมัยก่อนถือเป็นวันปีใหม่นั้น ตรงกับวันเวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ เพื่อให้จดจำได้ง่าย  เรื่องเกี่ยวกับนางสงกรานต์นี้ พระยาอนุมานราชธน (นามปากกา-เสฐียรโกเศศ) นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ได้เคยเขียนวิจารณ์ในบางแง่บางมุมไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอนำบางเรื่องมาเล่าให้ฟัง ดังนี้

ท่านกล่าวว่า นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดของเมืองฟ้า  มีด้วยกัน ๗ คนเป็นพี่น้องกันทั้งหมด ที่เรียกจำนวนว่ามี ๗ คน ไม่เรียก ๗ องค์ เพราะนางสงกรานต์เป็นนางฟ้าชั้นสามัญ ไม่ใช่เทวีหรือเทวดาผู้หญิงโดยตรง เป็นบาทบริจาริกา (แปลว่านางบำเรอแทบเท้าหรือสนม) ของพระอินทร์จอมเทวราช เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม โดยมีนาม ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธและพาหนะประจำแต่ละนาง คือ วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ ดอกไม้ คือ ดอกทับทิม   เครื่องประดับ ปัทมราค (พลอยสีแดง /ทับทิม) อาหาร อุทุมพร (มะเดื่อ)  อาวุธมีจักรและสังข์  พาหนะคือครุฑ

วันจันทร์ ชื่อนางโคราคะ ดอกไม้ คือ ดอกปีบ   เครื่องประดับ มุกดาหาร (ไข่มุก)  อาหาร น้ำมัน  อาวุธ คือ พระขรรค์และไม้เท้า   พาหนะ คือ พยัคฆ์ (เสือ)

วันอังคาร ชื่อ นางรากษส (อ่านว่า ราก-สด) ดอกไม้ คือ ดอกบัวหลวง  เครื่องประดับ คือ โมรา  อาหาร คือ โลหิต   อาวุธ คือ ตรีศูล ธนู   พาหนะคือวราหะ(หมู)

วันพุธ ชื่อ นางมณฑา ดอกไม้ คือ ดอกจำปา   เครื่องประดับ ไพฑูรย์   อาหาร นมเนย   อาวุธ คือ ไม้เท้าและเหล็กแหลม   พาหนะ คือ คัทรภะหรือคัสพะ(แพะหรือลา)

วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี ดอกไม้ คือ ดอกมณฑา   เครื่องประดับ คือ แก้วมรกต  อาหาร คือ ถั่ว งา   อาวุธ คือ ขอช้างและปืน  พาหนะ คือ กุญชร(ช้าง)

วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา ดอกไม้ คือ ดอกจงกลนี (บัวคล้ายบัวเข็ม)   เครื่องประดับ บุษราคัม  อาหาร คือ กล้วยน้ำ   อาวุธ พระขรรค์และพิณ  พาหนะ คือ มหิงส์ (ควาย)

วันเสาร์ ชื่อว่า นางมโหทร ดอกไม้ คือ ดอกสามหาว (ผักตบ)   เครื่องประดับ นิลรัตน์   อาหาร คือ เนื้อทราย   อาวุธ คือ จักรและตรีศูล   พาหนะ คือ นกยูง

พระยาอนุมานราชธนได้พูดถึงชื่อนางสงกรานต์ข้างต้นว่า บางตำราก็มีคลาดเคลื่อนต่างกันไปบ้างบางชื่อ เช่น นางกิมิทาประจำวันศุกร์ บางแห่งเป็นนางมิศระ และว่าชื่อของนางเทพธิดาทั้ง ๗ บางชื่อแปลแล้วก็ไม่น่าฟัง  เช่น นางรากษส แปลว่า นางยักษ์ร้าย  นางกิริณี แปลว่า นางช้าง  นางมโหทร แปลว่า นางมีพุงโต เป็นต้น ทั้งนี้ เหตุใดนางฟ้าจึงมีชื่อเช่นนี้ก็ไม่ทราบแน่ชัดและบางชื่อท่านก็แปลไม่ออก อย่างไรก็ดี แม้นางสงกรานต์บางนางจะมีชื่อเป็นยักษ์เป็นมาร แต่ภาพวาดแต่ละนางก็มักมีรูปร่างอรชรอ้อนแอ้น และหน้าตาสวยงามตามลักษณะนางฟ้าไม่ได้วาดรูปเป็นนางยักษ์อย่างชื่อ ที่น่าสังเกตคือ นางทั้งเจ็ดเป็นธิดาท้าวกบิลพรหม อยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่อยู่ชั้นต่ำสุด แต่บิดาคือท้าวกบิลพรหม ตามชื่อก็น่าจะอยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมโลกที่อยู่เหนือสวรรค์ของเทวดาไปอีกหลายชั้น และเมื่อขึ้นชื่อว่าพรหม ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ไม่น่าจะมีเมียได้ แต่ไฉนถึงได้มีลูกสาวถึง ๗ คนและยังส่งไปอยู่สวรรค์ชั้นต่ำสุดก็ไม่ทราบได้ ดังนั้น ท้าวกบิลพรหม ในตำนานจึงอาจจะไม่ใช่พรหมอย่างที่เข้าใจ  อาจจะเป็นแบบอสุรพรหมอย่างในรามเกียรติ์ก็เป็นได้

นอกจากนี้สัตว์พาหนะ คือ ครุฑ พยัคฆ์ วราหะ คัสพะ กุญชร มหิงสะและนกยูง ท่านก็ตั้งข้อสงสัยว่าล้วนเรียกเป็นคำศัพท์เกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะให้ฟังดูขลัง อย่าง หมูหรือสุกร ก็เรียกเป็น วราหะ ลา ก็เรียกว่า คัสพะ แต่ก็แปลกที่ไม่เรียก นกยูงว่า มยูร และสัตว์ทั้งหมดยกเว้น ครุฑ แล้ว ต่างก็เป็นสัตว์ธรรมดาในเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น  และการทรงพาหนะมาของนางสงกรานต์นั้น ในแต่ละปีไม่ได้ขี่มาอย่างธรรมดาเสมอไป บางปีก็ยืนมา บางปีก็นอนลืมตาบ้าง หลับตาบ้าง ซึ่งอาการเหล่านี้ ท่านว่าเป็นความฉลาดของคนโบราณที่จะทำให้คนไม่รู้หนังสือมองรูปปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่า วันมหาสงกรานต์หรือช่วงที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษอันเป็นวันปีใหม่ เริ่มเวลาใดโดยดูจากท่าของนางสงกรานต์นั่นเอง

สำหรับเรื่องอาวุธท่านเองก็สงสัยและยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไมนางสงกรานต์ต้องถืออาวุธ และต้องถือทั้งสองมือ  ทั้งที่ไม่รู้จะไปสู้รบปรบมือกับใคร ส่วนเรื่องอาหารที่มักมีคำทำนายกำกับมาด้วย อย่างเช่น ปีใดนางสงกรานต์กินถั่วกินงา ปีนั้นราษฎรจะมีความสุข ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ปีไหนกินเลือด มักจะมีแต่เรื่องหัวร้างข้างแตก เลือดตกยางออก เกิดเรื่องทะเลาะวิวาท เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องเก่าแก่ มีอยู่ด้วยกันทุกชาติทุกภาษา เพราะเป็นเรื่องความรู้สึกนึกเห็น ท่านว่าอย่าไปติว่าเหลวไหล  เพราะเรื่องใดที่คนส่วนมากถือว่าเหลวไหลและเสียหาย เรื่องนั้น ๆ ก็จะหมดไปเอง โดยไม่ต้องมีใครบอก แต่การที่บางเรื่องยังเหลือสืบมาจนทุกวันนี้ ก็แสดงว่ายังมีผู้ต้องการอยู่ ซึ่งคนก็มีหลายประเภท และมีความเชื่อต่าง ๆ กัน จะปรับให้มีปัญญาความคิดเหมือนกันไปหมดคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งเรื่องทำนองนี้ก็มิได้มีแต่ในบ้านเรา ชาติอื่น ๆ ก็มี เรื่องบางเรื่องก็มีมานานจนลืมความหมายที่แท้จริงไป จึงมักมีการอธิบายหรือเล่าเป็นนิทานนิยาย เพื่อให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจ เป็นการสมมุติเรื่องให้มีตัวตนเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่จะเข้าใจถูกเข้าใจผิด เชื่อไม่เชื่อแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะท่านว่าเรื่องที่ถูกในสมัยหนึ่ง ก็อาจผิดในอีกสมัยหนึ่ง ล้วนไม่แน่ไม่นอน แต่โลกก็มักจะหมุนเวียนกลับมาหาที่เดิมเสมอ เมื่อหมุนวนไปครบรอบแล้วก็กลับมาใหม่ การที่เราได้เรียนรู้เรื่องเก่าก็เหมือนการได้เหลียวหลังกลับไปดูว่าอดีตเป็นมาอย่างไร เพื่อเปรียบเทียบ แต่ถ้าไม่มีเลย และก้าวไปข้างหน้าอย่างเดียว เราก็อาจจะพลาดได้ นอกเหนือไปจากเรื่องนางสงกรานต์แล้ว ท่านยังได้พูดถึงเรื่องพระยานาคให้น้ำ เรื่องวันธงชัย วันอธิบดี  วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ไว้ด้วย แต่เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนางสงกรานต์ที่กล่าวถึงมีหลายประเด็นตรงกับที่เคยสงสัย และเห็นว่าแปลกดี เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง อย่างน้อยเราคงต้องยอมรับว่าตำนานของนางสงกรานต์ทำให้พวกเราได้มีกิจกรรมที่สนุกสนานในแต่ละปีที่ผ่านมาไม่น้อย

สำหรับในปี ๒๕๖๓ นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้มีประกาศสงกรานต์ไว้ดังนี้ ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๓  ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช ๑๓๘๒ ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ ๑๓ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๒๐ นาฬิกา ๔๘ นาที  นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร น้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธนหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆะ เป็นพาหนะ  วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๙ นาฬิกา ๒๔ นาที ๓๖ วินาที เปลี่ยนจุลศักราช ใหม่ เป็น ๑๓๘๒ ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็น ธงชัย , วันอาทิตย์ เป็น อธิบดี , วันพุธ เป็น อุบาทว์ , วันอังคาร เป็น โลกาวินาศ  ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๕๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๕๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๕๐ ห่า นาคให้น้ำ ๑ ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๐ ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล ๑ ส่วน เสีย ๙ ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

  ขอขอบคุณข้อมูล จาก ฝ่ายโหราพราหมณ์ กองพระราชพิธี  /นางสาวทัศชล  เทพกำปนาท  ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้เรียบเรียง / นางสาวเจนกิจ นัดไธสง รายงาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสม.หมู่ 4 บึงคำพร้อย ปทุมธานี ลุยกำจัดยุงลายให้ประชาเป็นสุข ปลอดไข้เสือดออก

กกต.จัดโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 6 (ภาคกลาง)

สตาเลี่ยน และสวอพ แอนด์ โก Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน