วธ. ร่วมกับ มศว. จัดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ “นวัตศิลป์ ถิ่นผ้า ในวิถีวัฒนธรรม” น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาผ้าไทยจนเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย


วันศุกร์ที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ “ วิจัยวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑๐” ภายใต้หัวข้อ นวัตศิลป์ ถิ่นผ้า ในวิถีวัฒนธรรม” โดยมี นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน ณ ห้องประชุม ชั้น ๔ อาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. กล่าวว่า หัวข้อในการประชุมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องผ้าของไทย ที่เป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและความสำคัญยิ่งของคนไทย  ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะทุกวิถีทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผ้าทอ จากภูมิปัญญาและฝีมือของคนไทยเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก  พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการเสด็จออกเยี่ยมราษฏร ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ อีกทั้งทรงโปรดให้ให้ช่างทอผ้าเข้าเฝ้าและพระราชทานคำแนะนำต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาผ้าทอให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถสร้างรายได้และเป็นอาชีพเสริมแก่ครอบครัว และทรงรับซื้อผ้าทอของราษฎรด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงเป็นผู้นำการใช้ผ้าทอของไทยในทุกโอกาส  ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และโปรดให้ข้าราชบริพารใช้ด้วย เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและส่งเสริมให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวกับผ้าทอและศิลปหัตถกรรมไทย จากโครงการศิลปาชีพไปจัดแสดงในกิจกรรมและงานเทศกาลต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนส่งผลให้ผ้าทอจากฝีมือคนไทยเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยกย่องว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก

กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่านด้วยเช่นกัน โดยจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าทอของคนไทย เช่น การรณรงค์ส่งเสริมให้หน่วยงาน องค์กร และประชาชนสาขาอาชีพต่าง ๆ หันมาใช้ผ้าไทยในวาระและโอกาสต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ นักธุรกิจ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา สื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไปที่หันมาสวมใส่ผ้าไทยในการทำกิจกรรมการงาน และในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า CPOT (Cultural Product of Thailand) การสนับสนุนให้นักออกแบบรุ่นใหม่นำผ้าทอจากภูมิปัญญาของคนไทยมาออกแบบตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามแฟชั่นนิยมสมัยใหม่ นอกจากนั้นกระทรวงยังได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่เกี่ยวกับผ้าหลายรายการ โดยจะพยายามผลักดันให้รายการผ้าทอของไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกด้วย  ทำให้ปัจจุบันผ้าผืนและเส้นด้ายของไทยได้กลายเป็นสินค้าส่งออกของประเทศที่สำคัญ  ซึ่งข้อมูลของกรมการค้าระหว่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ระบุว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผ้าผืนและเส้นด้ายของไทยอยู่ที่ประมาณ ๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท  ซึ่งประเทศไทยสามารถขยายมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยการเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและเส้นด้ายให้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค เช่น ทำอย่างไรให้เส้นใยผ้ามีความแข็งแรงคงทน ทำอย่างไรให้มีสีย้อมผ้าซึ่งได้จากวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้เฉดสีที่หลากหลาย ย้อมแล้วไม่ตกสี หรือทำอย่างไรให้ผืนผ้ามีลวดลายที่ดึงดูดใจของผู้ซื้อ เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายที่อยากจะเชิญชวนนักวิจัยทุกท่านมาทำการศึกษาเพื่อพัฒนาหรือสร้างนวัตกรรมให้กับวงการผ้าทอของไทยให้ก้าวไกลต่อไป

ด้าน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อน้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาผ้าทอชนิดต่าง ๆ ของท้องถิ่นไทย จนทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย และเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และหน่วยงานสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะและนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ทางด้านการวิจัยทางวัฒนธรรมระหว่างบุคลากรทั้งในสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจทั่วไป

ด้าน รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่นำองค์ความรู้และศักยภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยบูรณาการกับงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม  เพื่อเปิดพื้นที่เผยแพร่ผลงานทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม ในการรับใช้สังคม ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง



สำหรับรูปแบบการประชุมประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง ผ้า : ภูมิปัญญาในวิถีวัฒนธรรม โดย อาจารย์ เผาทอง ทองเจือ  การเสวนา และการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องผ้า โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจบางส่วนเข้าร่วมการประชุมในสถานที่จริง พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อให้สาธารณชนในวงกว้างสามารถรับชมได้ และรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคมในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙  (โควิด-๑๙) ตามนโยบายของรัฐบาล


เจนกิจ นัดไธสง สำนักข่าวเออีซีไทยนิวส์/รายงาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสม.หมู่ 4 บึงคำพร้อย ปทุมธานี ลุยกำจัดยุงลายให้ประชาเป็นสุข ปลอดไข้เสือดออก

กกต.จัดโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 6 (ภาคกลาง)

สตาเลี่ยน และสวอพ แอนด์ โก Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน