สภาอุตสาหกรรมจัดดีเบตเลือกตั้ง'66: 9 พรรคดีเบตโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนภาคอุตฯ เร่งแก้คอร์รัปชั่นประเทศไทย

กรุงเทพฯ / วันที่ 28 มีนาคม 2566 - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชูแนวคิดขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ในการประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "Empowering Thai Industries for Powerful Thailand เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" พร้อมจัดเสวนา “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” โดย 9 พรรคการเมือง ณ ห้องประชุม Convention Hall A 22 (ชั้น 22) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์



เสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" โดย 9 พรรคการเมือง ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ภายใต้ธีม "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง  จากตัวแทน 9 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และ พรรครวมไทยสร้างชาติ 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคมีหลักคิดว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบการทุกราย เพราะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี และกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคเอกชน

ดังนั้นจะพลิกบทบาทจากรัฐอุปสรรคมาเป็นรัฐสนับสนุน เช่น ปรับปรุง กรอ.ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยกำหนด KPI ของผู้ว่าฯ ที่จะมาเป็นประธาน กรอ.จังหวัด, การเจรจากับต่างประเทศเพื่อเปิดตลาดใหม่และดึงดูดการลงทุน เช่น กรณีที่มีปัญหาการขนส่งสินค้าในยุโรป, การปรับโครงสร้างพลังงานและนำโครงสร้างภาษีมาช่วยส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพ, การแก้ไขอุปสรรคในเชิงกฎหมาย, การเปิดศูนย์บริการเรื่องการขออนุญาตแบบ One Stop Service, การนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอี



การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันมีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยรัฐบาลต้องดูแลและส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งพรรคมีแผนนำร่องในสถาบันการศึกษาในหัวเมืองหลัก คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ ซึ่งพร้อมที่จะกระจายออกไปจังหวัดอื่นๆ


ส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น หากหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก ดังนั้นการยกระดับเป็นรัฐบาลดิจิทัลสามารถแก้ไขได้ เช่น การขออนุญาตจะมีกรอบเวลาและเหตุผลชัดเจน


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีนโยบายอุตสาหกรรมก้าวหน้า 3 ประการ คือ 1.การเปลี่ยนอุตสาหกรรมโลว์เทคให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคไฮทัช โดยใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ 2.แนวคิด Made with Thailand จากเดิมที่เป็น Made in Thailand ซึ่งสร้างสำเร็จให้กับไต้หวันในการมีส่วนร่วม และ 3.ปัจจัยการผลิตที่ถูกลงแต่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน, ส่งเสริมการเรียนในระดับอาชีวะศึกษา และ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเสรี

ปัญหาการแข่งขันการลงทุนกับประเทศเวียดนาม และปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยนั้นมีความเกี่ยวพันกัน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศของไทยมีน้อยกว่าเวียดนาม แต่ระดับการทุจริตของไทยสูงกว่าเวียดนาม แนวทางส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่เรื่องการลดภาษีเหมือนในอดีต แต่ควรมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการสร้างแรงจูงใจ

ส่วนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น จะต้องลดเรื่องการใช้ดุลพินิจ ลดการผูกขาด และเพิ่มความริบผิดรับชอบของหน่วยงานรัฐ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนยังไม่เพียงพอ ซึ่งมี 4 เรื่องคือ 1.กิโยตินกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 1,400 ฉบับ 2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายเพดานค้ำประกันเงินกู้ถึง 60% 3.การเพิ่มแต้มต่อให้กับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ และ 4.ใช้นโยบาย BCG เพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่าย เช่น ลดค่าไฟฟ้า

การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีการพูดกันมานานแล้วแต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน ต่างคนต่างทำไม่มีทางเป็นไปได้

ส่วนการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นอยู่ที่ผู้นำต้องเอาจริงเหมือนในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่พูดว่าตัวเองไม่คอรัปชั่น อย่าหลับตาข้างเดียว ต้องมีแพลตฟอร์มในการปราบโกง ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นโยบายหลักของพรรค คือ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ โดยต้องแก้ปัญหาในส่วนของภาคธุรกิจ อาทิ แก้ปัญหาหลักต้นทุนพลังงาน น้ำมัน ค่าไฟ ขนส่ง ซึ่งถ้าพรรคฯ ได้เป็นรัฐบาลยืนยัน 1 เดือนเห็นผล ว่า กำไรโรงกลั่นจะไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดต้องไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร และก๊าซต้องเกลี่ยต้นทุนที่ถูก, ภายใน 3 เดือนพรรคฯ ยืนยันว่า ระบบโลจิสติกส์และรางต้องไม่เกิน 7% ของ GDP, ขับเคลื่อน AI และ Big Data, ส่งเสริม Made in Thailand, ส่งเสริมรถไฟฟ้า (EV) และตั้งเป้า 3% ของ GDP ใน 4 ปี รัฐลงทุน 70% ให้ประเทศไทยเป็นฮับ R&D ของเอเชีย

นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งภาคอุตสาหกรรมทุกขนาด และยกระดับอุตสาหกรรมภาคเกษตรไปพร้อมกัน

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวว่า โควิด-19 สงครามการค้า สงครามจริง เศรษฐกิจถดถอย ดอกเบี้ยขาขึ้น น้ำมันแพง โลกร้อน เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีปัญหา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภาพรวม GDP ไทยขาดทุน ในส่วนของปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% แต่ไทยจำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างน้อย 4-5% โดยใช้จุดแข็งที่มี คือ การท่องเที่ยว ซึ่งไม่ต้องอาศัยความเชื่อมั่น และไม่เกี่ยวกับปัจจัยทั่วโลก

นายสุชาติ ชมกลิ่น กรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐบาลได้ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมทุกมิติในการเยียวยา SMEs รายละ 3 พันบาท/คน เพื่อรักษาการจ้างงานรองรับการเปิดประเทศ

น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ว่าที่ผู้สมัครเขตดินแดง-พญาไท พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรคจะต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การยกระดับยาสมุนไพร ซึ่งสามารถที่จะผลักดันให้เป็นผู้นำในภูมิภาคได้, อุตสาหกรรมอาหารที่สร้างชื่อไปทั่วโลก

นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความเปราะบาง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และทางเลือกในการขยายตัวเศรษฐกิจทันทีและต่อเนื่อง กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงต้องดำเนินการคู่ขนานกันไปทั้งสองมิติ ทั้งมิติการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และมิติการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามหลัก 3 เร่งด่วน 8 เร่งรัด คือการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ ประกอบด้วย 1. แก้หนี้ประชาชนและผู้ประกอบการให้เบ็ดเสร็จ เติมทุนให้จริงจังด้วยวิธีใหม่ และสร้างโอกาสใหม่ โดยทำทันที 2. ดูแลสวัสดิการคนไทย เสริมทักษะ และพัฒนาคนไทย โดยมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งเป็นบัตรเพื่อการพัฒนา และดูแลสวัสดิการ 3. การยกระดับคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย และการลงทุนปฐมวัย ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

อนุสรณ์ นิติเมธีวัภภล/ข่าว/เออีซีไทยนิวส์/รายงาน




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสม.หมู่ 4 บึงคำพร้อย ปทุมธานี ลุยกำจัดยุงลายให้ประชาเป็นสุข ปลอดไข้เสือดออก

กกต.จัดโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 6 (ภาคกลาง)

สตาเลี่ยน และสวอพ แอนด์ โก Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน