จังหวัดเลย ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย พ.ศ.2565

ที่โรงแรมเลยพาเลซ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมกับ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูลของโครงการฯ ตั้งแต่ต้น และเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานศึกษาของโครงการฯ จากภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโครงการฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมทั้งที่โรงแรมเลยพาเลซและผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 300 คน




นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เกิดขึ้นจากแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ต่อมาได้มีการศึกษามาแล้ว 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2527, 2541 และโดย อพท. เมื่อปี พ.ศ.2557 เป็นโครงการหนึ่งที่เป็นที่สนใจและชาวจังหวัดเลยจำนวนมากมีความต้องการและสนับสนุนเนื่องจากจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเลยและจังหวัดข้างเคียงโดยรอบ จังหวัดเลย มีหนังสือถึง อพท. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาครั้งนี้ จึงถือว่าจังหวัดเลยและ อพท. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในงานดำเนินการศึกษา โดยขอให้หน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มภาคีต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการศึกษาดำเนินงานศึกษา โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงในครั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงการที่จะดำเนินการ หรือ ไม่ดำเนินการ โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง และเพื่อจังหวัดเลยจะสามารถดำเนินการในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพัฒนาโครงการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป




นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ อพท. เห็นถึงความสำคัญของโครงการ และความต้องการของจังหวัดเลย จึงจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบของจังหวัดเลยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปในการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการศึกษาทบทวนความเหมาะสม (Feasibility Study) ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ รูปแบบโครงการ พร้อมกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการของรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้ อพท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณค่าความเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อป่าไม้ สัตว์ป่า และทัศนียภาพ ให้มีน้อยที่สุด กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีการออกแบบใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เสริมสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และจะมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การลดจำนวนการค้างแรมในพื้นที่ยอดภูกระดึง ให้เป็นไปตามความสามารถในการรองรับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้จัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งในระดับสากล กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางขนส่งนักท่องเที่ยว แต่ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ลูกหาบในการขนสัมภาระผ่านระบบกระเช้าแทนการแบกสัมภาระตามทางเดิน รวมทั้งเปิดโอกาสการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มผุ้สูงอายุ และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดในการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งมวล โดยมีลูกหาบที่ปรับเปลี่ยนจากการหาบสัมภาระเป็นผู้บริการการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพัฒนากระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แต่ยังคงให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของการเดินเท้า โดยแนวกระเช้าและแนวทางเดินจะแยกออกจากกัน ไม่รบกวนกัน


นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5) ได้กล่าวถึงโครงการการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย พ.ศ.2565 ว่า อพท. ได้สนับสนุนงบประมาณตามที่จังหวัดเลยประสานมา โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพาร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินงานในการทบทวนข้อมูลตามผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงที่ อพท. ดำเนินการในช่วงปี 2557-2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาที่ อพท. เสนอไว้แล้ว เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ 2559 ในมติครั้งนั้น ได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งต่อมาในขั้นตอนการพิจารณาได้มีผลสรุปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพิจารณามอบหมายหน่วยงานภายในจังหวัดเลยเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการฯ และนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เมื่อมีการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้มีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมขณะที่ศึกษา และให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๐




โครงการการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จังหวัดเลย พ.ศ.2565 สำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 (อพท.5) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับจังหวัดเลย ผู้สนใจข้อมูลการดำเนินงานศึกษา สามารถติดตามข้อมูลได้ทาง Facebook ความจริงเรื่องกระเช้าจากชาวภูกระดึง โดยมีศูนย์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้ดำเนินงาน ติดต่อได้ที่ ศูนย์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่อยู่ : 169 ถนนลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131 โทรศัพท์ 06 1485 8000 โทรสาร 0 3839 3472 (อัตโนมัติ)

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม/ข่าว/เออีซีไทยนิวส์/รายงาน









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อสม.หมู่ 4 บึงคำพร้อย ปทุมธานี ลุยกำจัดยุงลายให้ประชาเป็นสุข ปลอดไข้เสือดออก

กกต.จัดโครงการพลเมืองศึกษา (Civic Education) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 6 (ภาคกลาง)

สตาเลี่ยน และสวอพ แอนด์ โก Kick-off โครงการ Replication Battery-Swapping Electric Motorcycle Taxis in Samyan District of Bangkok รถจักรยานยนต์รับจ้างพลังงานไฟฟ้าสู่สังคมที่ยั่งยืน